Categories
แนะนำบริการ

ทริปไนซ์เดย์ 1 ขวบ – มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

จากวันแรกที่ให้บริการ(09/09/2019) ตอนนี้เรามีอายุขวบกว่าแล้ว ที่ผ่านมาเราก็มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอด ทั้งการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก และลูกเล่นการให้บริการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้เรายังคงสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอดคือต้องการให้บริการกับผู้ใช้งานทุกคนแบบฟรีๆ และได้เข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆในประเทศ ตามสโลแกนที่เรากล่าวทุกครั้ง

“เที่ยวไทย กับ ทริปไนซ์เดย์”

บล็อกนี้เราเลยอยากจะเขียนอัพเดทสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และคำถามที่เราถูกถามมาบ่อยๆด้วยให้อยู่ในเรื่องเดียวกัน บางอย่างหลายคนอาจจะมองว่าเป็นข้อมูลที่ควรจะเป็นความลับ แต่เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าที่เราประกอบธุรกิจอยู่ทุกวันนี้ เราไม่ได้มีอะไรแอบแฝง เรามีความตั้งใจที่จะทำเพื่อผู้บริโภค ซึ่งใครล่ะที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่คนรอบข้าง เพื่อนพี่น้อง ครอบครัว และตัวเราเองหรอที่ได้จากสิ่งเหล่านี้

หากท่านเห็นว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ ก็ขอเพียงช่วยเราประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มของเราให้เป็นที่รู้จัก หรือให้ feedback กับทีมงาน เพื่อที่เราจะได้นำไปปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้นในอนาคตก็จะเป็นพระคุณกับเรามากเลยครับ 🥰

ที่ผ่านมาปีกว่าเราเติบโตแค่ไหน?

ข้อมูลที่เราเก็บนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือข้อมูลที่เก็บโดยระบบภายนอก และข้อมูลที่เราเก็บเองจากระบบภายใน การเก็บข้อมูลจากระบบภายนอกก็เพื่อให้เห็นภาพคนที่สนใจเข้ามาลองใช้งานระบบ ทดสอบกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และดูกระแสตอบรับจากสื่อสังคม ทำให้ทีมงานของเราเห็นภาพได้ง่ายและเร็ว วัดผลการทำงานในแต่ละเดือนได้นั่นเองครับ

ส่วนข้อมูลที่เราเก็บกันเองผ่านระบบหลังบ้าน ตรงนี้แหละที่เราเก็บข้อมูลเชิงลึกต่างๆ ที่ผู้ใช้งานโต้ตอบกับระบบ ไม่ว่าจะเป็นสนใจที่่ท่องเที่ยวแบบไหน เพิ่มสถานที่เที่ยวแบบไหนเข้าทริป ไปเที่ยว A แล้วคนนิยมไปเที่ยวที่ไหนต่อ ฯลฯ ซึ่งในอนาคตเราจะนำมาคำนวณสร้างเป็นโมเดลทางคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยคัดกรองสถานที่ท่องเที่ยวที่มีมากกว่า 4,000 จุดในระบบ(ข้อมูลเมื่อเดือนต.ค.2020) ให้เหลือสถานที่ที่น่าจะตรงใจกับผู้ใช้งานแต่ละคนมากที่สุด หลายคนจะได้ไม่ต้องเสียเวลาปวดหัวกับข้อมูลที่มีเยอะจนเกินไป

ผู้ใช้งานโตขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลจากเครื่องมือภายนอกที่เราใช้อย่าง Google Analytics นั้นบอกว่าเรามีฐานผู้ใช้โตขึ้นในแต่ละเดือน โดยอาจจะน้อยลงไปบ้างช่วงโควิด-19 แต่หลังจากปลดล็อกดาวน์ก็กลับมาใช้บริการใหม่และเป็น new high ในทุกๆเดือนเลย ต้องขอขอบคุณจริงๆ

ผู้ใช้งานเข้าถึงแพลตฟอร์มของเราโดยวิธีใดบ้าง

สถิติที่น่าสนใจอยู่ที่วิธีการเข้าถึงระบบของเราครับ กว่า 80-90% นั้นเป็นการเข้าจาก Search Engine หรือช่องทาง Organic Search ที่นักการตลาดหลายคนเรียกกัน ตรงนี้เองที่เริ่มมีคีย์เวิร์ดบางคำที่เว็บไซต์ของเราติดผลการค้นหาหน้าแรกของ Google และบางคำขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้าเว็บไซต์ชื่อดังที่เกิดขึ้นมานานหลายเจ้าเลย

ลองค้นหาใน Google คำว่า “จัดทริป” และ “จัดทริปเที่ยว” ดูนะครับ

เป้าหมายถัดไปคงเป็นการเพิ่ม retention rate ให้สูงขึ้น รักษาฐานลูกค้าเก่า

หลายคนอาจจะสงสัยว่าเราใช้เงินทำ SEO, SEM ไปเท่าไหร่กว่าจะมีสถิติที่น่าสนใจแบบนี้ภายในหนึ่งปี ต้องบอกผ่านบล็อกนี้เลยครับว่า ยังไม่เสียเลยสักบาทเดียว (อาจจะเป็นเพราะทีมงานเราขี้เหนียวกันด้วย เลยเน้นปรับปรุงระบบให้ดีมากกว่านำเงินไปลงการตลาด 😂)

ภาพจาก Search Console แสดงการเติบโตด้านการค้นหาแพลตฟอร์มของเรา

ซึ่งหลังจากนี้ก็คงไปเน้นเรื่องการทำให้คนกลับมาใช้มากขึ้น ก็ต้องรอดูว่าการมีแอปฯแล้ว และจะนำขึ้นให้คนทั่วไปใช้กันช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยให้คนนึกถึงและเข้าถึงระบบของเราได้มากขึ้น พอที่จะกลับมาใช้ทริปไนซ์เดย์หรือเปล่า

โดยเทคนิคของเรานั้นก็ง่ายมากครับ พยายาม monitor ระบบของตัวเองอยู่ตลอด มีเจตนาที่ดีที่ต้องการให้ผู้ใช้สามารถใช้ระบบได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ ทีมงานเราปรับแต่งเว็บไซต์หน้าบ้านอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเปลี่ยนคำโปรยเล็กๆน้อยๆ ไปจนถึงย้ายบางส่วนออกไปหน้าอื่น โดยทุกการกระทำนั้นก็มีการวัดผลอยู่ตลอดว่าอะไรดีหรือไม่ดี หรือที่ใครๆเรียกกันว่าทำ A/B Testing

Heatmap หน้าเว็บไซต์ ดูว่าคนเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปไหม

นอกจาก A/B Testing แล้ว เราก็ยังดู heatmap การใช้งาน ไปจนถึงใช้โค้ด Facebook Pixels มาเป็น metrix อื่นๆเพื่อประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยทั้งหมดทั้งมวลเครื่องมือภายนอกที่เราใช้นี้เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้งานได้ฟรีและได้มาตรฐานสากล

หนึ่งในตัวอย่างการทำ A/B Testing ผ่าน Optimize

การเก็บข้อมูลภายใน

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่ามีความสำคัญ และเก็บเอาไว้ตั้งแต่วันแรกเลยคือการสร้างระบบเก็บข้อมูลของเราเอง ตอนนี้ที่ไหนมีคนสนใจหาข้อมูลเยอะ บทความไหนเป็นที่นิยม หรือหน้าไหนของเว็บไซต์เรามี traffic วิ่งเข้ามาบ่อย และผู้ใช้กระทำอะไรต่อเป็นลำดับแรก รวมไปถึงสถานที่ไหนที่เมื่อผู้ใช้เพิ่มลงทริปแล้ว มีโอกาสที่ผู้ใช้จะสนใจเพิ่มลงทริปเป็นลำดับถัดไป

หลายท่านคงคุ้นเคยกับระบบตะกร้าสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ชื่อดังต่างๆใช่ไหมครับ หลักการณ์ในการสร้างโมเดลข้อมูลเราก็คล้ายกันเลย ถ้าหยิบเป๊ปซี่แล้วลูกค้าจะหยิบอะไรต่อเป็นลำดับถัดไปและมีโอกาสเท่าไหร่ ฯลฯ

ตัวอย่างคร่าวๆ เราสามารถช่วยโปรโมทเมืองรองให้คนตัดสินใจไปมากขึ้นได้จากข้อมูลที่เราเก็บมา

ซึ่งหลังบ้านของเราก็ทำเป็นแผนภาพขึ้นมาและอัพเดทแบบวันต่อวัน อย่างช่วงไหนจังหวัดไหนที่มีคนค้นหาเยอะ ตั้งเป็นจุดหมายปลายทางบ่อยเราก็จะพอรู้คร่าวๆได้ และอาจจะดึงบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดเมืองรองไปสร้างเป็นโพสต์โปรโมทผ่าน Facebook fanpage ของเราเอง ก็จะได้ engagement ที่ดีขึ้น และตรงกับช่วงเวลาที่คนนิยมนั่นเอง

พอถึงตรงนี้อาจจะมีคนสงสัยว่าเราเก็บข้อมูลอะไรไปบ้าง ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไหม ทำตัวไม่น่าไว้ใจหรือเปล่า ก็ต้องบอกเลยว่าเราไม่มีนโยบายเก็บข้อมูลที่เป็นแบบ sensitive data ของลูกค้ามาใช้วิเคราะห์สร้างโมเดล (สำหรับคนที่สงสัยว่าข้อมูลประเภท sensitive data คืออะไร อยู่ตรงไหนของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แนะนำอ่านจากบทความของ SCB ได้เลย เข้าใจชัดเจนดีครับ)

สิ่งที่เราเก็บมาสร้างโมเดลในอนาคต คือข้อมูลที่เกี่ยวกับระบบของเราดังเช่น สถานที่, ตำแหน่ง, หมวด, ช่วงเวลาการใช้งาน, เพศ และ วันเกิดของสมาชิก ซึ่งสมาชิกไม่จำเป็นต้องระบุก็ยังใช้งานระบบได้ปกติ เราใช้เพศและอายุเพื่อหาความสัมพันธ์หรือความชอบของกลุ่มคนเท่านั้น ไม่ได้เก็บว่าเป็นใครชื่ออะไร

ตัวอย่างการเก็บข้อมูล เราก็เก็บแค่จากสถานที่, การทำงานของระบบเราเท่านั้นแหละจ้า

ทั้งหมดนี้ก็เพราะต้องการลดความยุ่งยาก ลดการเสียเวลา และพยายามคัดข้อมูลมาเฉพาะที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานทั้งนั้นเลยครับ.. แต่อย่างว่า มันอาจจะฟังดูดีเกินไป จนมีคนมาถามเราตรงๆว่า product ของทริปไนซ์เดย์ คือข้อมูลของผู้ใช้งานใช่ไหม ให้ใช้ฟรีมาอยู่ตลอดแบบนี้เนี่ย 😤

เปล่าครับ

ที่ให้บริการได้ฟรีทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราได้เงินสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งการลงประกวดและการเขียนรายงานนำเสนอโครงการไปยังกระทรวงต่างๆ ก็ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสเราได้พิสูจน์ตัวเองและทำตามฝันอีกเหตุผลนึงก็เพราะเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำ ทีมผู้ก่อตั้งเรามีธุรกิจอื่นกันอยู่แล้วด้วย จึงยังไม่ต้องการเงินเดือนในตอนนี้

และเราก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook ลงได้ทุกเดือน เพราะข้อมูลที่เราเก็บมาช่วยให้เรารู้จักฐานลูกค้าของเรามากขึ้น สามารถใช้เงินกับการตลาดได้ถูกลง แต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือดียิ่งขึ้น พูดง่ายๆ ก็เหมือนเรารู้ว่าลูกค้าเราคือใคร ควรจะสร้างคำสื่อสารด้วยโทนไหนไปยังกลุ่มนั้นโดยเฉพาะ

สิ่งที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ของเราในอนาคตคือการที่ร่วมมือกับแบรนด์ หรือผู้ประกอบการอื่น พูดให้ชัดเจนก็คือเราให้บริการกับนักท่องเที่ยวฟรี และจะได้ค่าธรรมเนียมหรือส่วนต่างจากการตกลงกับร้านค้าและผู้ประกอบการ

โปรโมทธุรกิจด้านการท่องเที่ยวฟรีที่: https://www.tripniceday.com/covid/add

เรายังหวังเสมอว่า ทุกคนสามารถเข้ามาจัดทริปในฝันบน tripniceday ได้ และเลือกเพิ่มกิจกรรมในแต่ละสถานที่ที่ไปเที่ยวได้เองในราคาที่ถูกกว่าซื้อเองต่างหาก เช่นถ้าจะไปกาญจนบุรีเสาร์นี้ ก็อยากไปแวะ A, B ซื้อบัตรเข้าชม C และนอนพักที่ D ได้อย่างที่ตัวเองต้องการ

ทริปไนซ์เดย์ของเราก็จะรวบรวมเอาอุปสงค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลารวมๆ เป็นก้อนใหญ่ไปต่อรองราคากับผู้ประกอบการ อาจจะใช้ข้อมูลที่เราสร้างโมเดลเก็บมาช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น หรือบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

เราอยากให้ผู้ใช้งานมั่นใจว่าเราไม่ได้ดึงข้อมูลส่วนตัวของท่านไปใช้ หรือขายให้ใคร เราทำโครงการทริปไนซ์เดย์นี้ขึ้นมาเพราะอยากทำ และในอนาคตหากมีคนใช้งานเยอะเกิดเป็น community ที่ใหญ่พอสมควรแล้ว เราเองก็ได้ประโยชน์ในฐานะผู้ใช้คนนึงเหมือนกัน

Tripniceday นี้เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโปรเจ็คจบ มันจึงเริ่มขึ้นมาเพราะอยากทำอะไรสนุกๆ มากกว่าการเริ่มด้วยการหาผลกำไรนั่นแหละครับผม 🥰

จิรายุ, 01/11/63